Background



ภาพกิจกรรม
อบต.เกาะสาหร่าย จ.สตูล ขับเคลื่อนโครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” เดินหน้าลงพื้นที่รณรงค์การคัดแยกขยะครัวเรือน ลดการปนเปื้อนขยะเปียกกับของเหลือใช้อื่น
92
9 พฤศจิกายน 2565

          เมื่อวันที่ (9 พ.ย. 65) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายณัฐพันธุ์ อังโชติพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย พร้อมด้วยนายเปน ลัดเลีย ประธานสภา นายกุลวัสส์ วิเศษยิ่ง รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย นางสาวฟาริดา นุ้ยดำ เจ้าพนักงานสาธารณสุข กองสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่รณรงค์ โครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในพื้นที่ครัวเรือน หมู่ที่ 5 , 6 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ว่า “ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

          ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนและเตรียมการทวนสอบ โครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ คือ “ผู้นำต้องทำก่อน” โดยให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานส่วนตำบล ลูกจ้าง ดำเนินการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เป็นการนำร่อง และกระตุ้น สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ในครัวเรือน โดยดำเนินการเชิงรุกและใช้กลยุทธ์ “เคาะประตูบ้าน (Knock Door Marketing)” ไปยังทุกครัวเรือนในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งซักซ้อม ทำความเข้าใจกับครัวเรือนในพื้นที่ในการดำเนินการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ที่ถูกวิธี เพื่อเตรียมรับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน